การเกิดขึ้นและดับสูญของมหาอำนาจ (Big Cycle)เมื่อความรุ่งเรืองของทุกประเทศ มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดเสมอ
เรื่องนี้สรุปมาจากบางส่วนของ The Changing World Order ของ Ray Dalio นะครับ และมีการขยายความเพิ่มด้วยมุมมองของ BottomLiner
หากใครลงทุนอยู่ส่วนใหญ่จะรู้ว่าเศรษฐกิจนั้นมีลักษณะเป็นวัฏจักรมีการขึ้นและลงอยู่ตลอดเวลา
โดยทุก 8-12 ปี เรามักจะเห็นวิกฤติเศรษฐกิจ (แต่ไม่จำเป็นต้องรุนแรงเสมอไป)
โดยช่วงที่ผ่านมาหลังสงครามโลก เราจะเห็น Recession ในปี 1975, 1982, 1991, 2001, 2009, 2020 (รอบปี 2020 นี่ถึงแม้ไม่ได้เกิดแบบปกติ แต่ถ้าไม่เกิดโรคระบาด เศรษฐกิจโลกก็อยู่ในจุดสุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว)
โดยหากวิกฤตนั้นมีจุดเริ่มมาจากประเทศที่มีกำลังในการบริโภคสูง ๆ จะส่งผลให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างกว่าประเทศเล็ก ๆ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ไม่ได้เติบโตเป็นเส้นตรง แต่มักมีลักษณะเหมือนเนินเขาที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในรอบเล็ก ๆ เท่านั้น (แม้จะกินเวลา 8-12 ปีในแต่ละรอบ)
หากถอยออกมามองในช่วงเวลาที่นานกว่านั้น ทุกประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรอบใหญ่ (Big Cycle) เป็นวัฏจักรความรุ่งเรืองและล่มสลาย เกิดการเพิ่มขึ้น/ลดลงของความรุ่งเรือง ที่แยกออกจากกันในแต่ละประเทศ และกินเวลาหลาย 100 ปี
ซึ่งในหนังสือ The Changing World Order จะเน้นไปที่การขึ้น/ลงของมหาอำนาจเป็นหลัก แต่จริง ๆ เรื่องนี้สามารถใช้ดูกับประเทศไหนในโลกก็ได้
(แม้จะไม่ตรงตัวเพราะไม่ใช่ทุกประเทศจะขึ้นเป็นมหาอำนาจได้แต่สามารถเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้)
ซึ่งการรู้เรื่องนี้จะทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ทำความเข้าใจ อดีต ปัจจุบัน และ อนาคตได้ดียิ่งขึ้น
โดยวัฏจักรความรุ่งเรืองแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ Rise, Top, Decline
==========
#Rise (การผงาดขึ้นของความรุ่งเรือง)
ช่วงนี้เริ่มต้นจากการมีผู้นำที่ดี ช่วยออกแบบระบบที่ดีให้ประเทศ ทำให้ประเทศมีความมั่งคั่งและอำนาจเพิ่มขึ้น ซึ่งระบบที่ว่านั้น ประกอบด้วย
– มีการศึกษาที่ดี
– พัฒนาจริยธรรมในการทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่การเคารพกฏระเบียบ และ การคอร์รัปชั่นที่ต่ำ รวมถึงการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
– คิดต้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ
– เปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ ของโลก
– แรงงาน รัฐบาล ทหารทำงานร่วมกันอย่างสงบสุข
ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่
– การทำงานของประเทศที่ Productive มากขึ้น
– มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น
– สัดส่วนการค้าขายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น
– และมีเมื่อการซื้อขายกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จึงจำเป็นต้องปกป้องตัวเองจากเส้นทางการค้าขาย และป้องกันประเทศ จึงทำให้ต้องมีกองกำลังทหารที่แข็งแรงขึ้นด้วย
และหากทั้งหมดผ่านไปได้ดี…
ประเทศจะมีรายได้ที่มากขึ้น → เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา วิจัย ต่าง ๆ → ระบบต่าง ๆ พัฒนาศักยภาพของคนที่มีความสามารถและสร้างความมั่งคั่งขึ้นได้ เกิดการแข่งขัน ต้องการสร้างความสำเร็จ → พัฒนาระบบตลาดเงินทุน
แต่หากจะขึ้นเป็นสู่ระดับมหาอำนาจได้ ต้องมีการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน
เพราะเวลาเกิดการค้าขายระหว่างประเทศ
ทำให้สามารถจ่ายในสกุลเงินของตนได้ เมื่อเกิดการค้าขายกับทั่วโลกมากขึ้น สกุลเงินของตนจะมีความต้องการที่มากขึ้น หลังจากนั้นผู้คนทั่วโลกจึงสามารถเก็บเงินในสกุลเงินนั้น ๆ ได้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ
จนท้ายที่สุดสามารถพัฒนาเป็นสกุลเงินสำรองหลัก ๆ ของโลกได้
ซึ่งการเป็นสกุลเงินสำรองของประเทศต่าง ๆ นี่เป็นจุดสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศนั้น ๆ สามารถกู้ยืมเงินได้มากขึ้น ในต้นทุนที่ถูก เนื่องจากมีความต้องการในสกุลเงินของประเทศมากขึ้น ทำให้เงินแข็งขึ้น
อีกข้อที่สำคัญคือการอยู่ในตำแหน่งระเบียบของโลกที่ดี ได้รับการช่วยเหลือจากมหาอำนาจของโลก ช่วยเหลือด้านเงินทุนและความรู้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ประเทศนั้นมีความมั่งคั่งและอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างที่เห็นในปัจจุบันจาก อินเดีย เวียดนาม หรืออย่าง ญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามโลก และจีนในช่วง 1980
==========
#Top (จุดสูงสุด)
หลังประเทศเติบโตมาเรื่อย ๆ ในช่วง ‘Rise’ และกลายมาเป็นผู้นำ สุดท้ายก็จะเริ่มชะลอการเติบโตลง พร้อมต้นทุนของการเติบโตที่ผ่านมาคือ หนี้สินเริ่มพอกพูน ลักษณะโดยรวมคือ
– มีหนี้สูง
– เกิดความเลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
– การศึกษาและ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศเริ่มถดถอย
– เกิดความขัดแย้งระหว่างชนชั้นในประเทศ
– เกิดปัญหาระหว่างประเทศ เนื่องจากการขยายอิทธิพลด้านต่าง ๆ ของประเทศไปในพื้นที่ต่าง ๆ
และถูกท้าทายโดยคู่แข่ง
เมื่อผู้คนในประเทศมีความมั่งคั่งที่สูงขึ้น ผลิตภัณฑ์ของประเทศนั้น ๆ จะมีราคาสูงขึ้น และทำให้เสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่สามารถส่งมอบคุณค่าเดียวกันได้ในราคาที่ถูกกว่า ยกตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินของสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นอุตสาหกรรมที่ผูกขาด ก่อนที่บริษัทของจีนจะเริ่มผลิตเองได้
ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ จะค่อย ๆ พัฒนา และลอกเลียนแบบ ผลิตภัณฑ์ วิธีการ และ เทคโนโลยี ของประเทศที่เป็นผู้นำ ทำให้ความสามารถในประเทศผู้นำน้อยลงเรื่อย ๆ
ในขณะประเทศที่เป็นผู้นำ เมื่อผู้คนรวยขึ้น จะมีแรงผลักดันในการทำงานหนักที่ต่ำลง พวกเขาจะเริ่มพักผ่อนมากขึ้น แสวงหาสินค้าและบริการที่คุณภาพดีมากขึ้น (แต่เกินความจำเป็นของชีวิต) และสุดท้ายประเทศจะเสื่อมโทรมลง
เมื่อคุณค่าในชีวิตเปลี่ยนไปจากรุ่นสู่รุ่น จากประเทศที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่งและอำนาจสู่รุ่นที่หลงไหลในความหรูหราและทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อความท้าทายจากคู่แข่งมากขึ้น
เพราะเมื่อผู้คนได้สัมผัสช่วงเวลาที่ดีพวกเขาคาดหวังให้เวลาที่ดีเหล่านั้นมีอยู่ต่อไปอีกเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการกู้ยืมที่เกินตัว และทำไปสู่ฟองสบู่ทางเงิน และความเลื่อมล้ำทางการเงิน
ความมั่งคั่งที่มากขึ้นจะเกิดความเลื่อมล้ำมาด้วยเสมอ คนรวยจะใช้ทรัพยากรในการสร้างอิทธิพลให้ตน เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์และโอกาสที่มากกว่าคนอื่น ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในระบบ ความขุ่นเคืองใจระหว่างชนชั้นจึงมากขึ้น
แต่ทั้งหมดจะยังอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เมื่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของคนในประเทศยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
การมีสิทธิพิเศษในการเป็นสกุลเงินสำรองของโลก จะทำให้ประเทศเติบโตขึ้น เพิ่มความสามารถในการใช้จ่าย แต่ในระยะยาวจะทำให้ประเทศอ่อนแอลงจากหนี้สิน เมื่อเริ่มเสียความสามารถในการแข่งขัน ก็ต้องกู้มาเพิ่มเพื่อรักษาอำนาจของประเทศ นำมาซึ่งการใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น และค่าใช้จ่ายในกองกำลังทหารเพื่อเพิ่มความสามารถในการป้องกันประเทศจากความขัดแย้งกับคู่แข่ง
และเมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มไม่มีประเทศให้ยืมเงินแล้ว สถานะในการเป็นเงินสำรองในประเทศต่าง ๆ จะเริ่มเปลี่ยนไป จากที่ผู้คนเคยซื้อสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ เก็บจะกลายเป็นขายแทน และทำให้ประเทศนั้น ๆ ค่อย ๆ เสื่อมลง นำไปสู่ช่วง Decline
=====
#Decline (การเสื่อมถอย)
ช่วงเสื่อมสลายเริ่มต้นจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ
นำมาสู่ความขัดแย้งภายใน
เมื่อหนี้สินมากขึ้นจนประเทศไม่สามารถกู้ยืมได้เพิ่มแล้ว จะทำให้การใช้นโยบายการเงินเพื่อสร้างการเติบโตให้ประเทศเกิดได้ยาก จำเป็นต้องปรับลดระดับหนี้ของประเทศลง หรือหากไม่สามารถใช้หนี้จำได้ จำเป็นต้องเลือกระหว่างปล่อยให้เป็นประเทศล้มละลายหรือพิมพ์เงินออกมา ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศต่าง ๆ จะเลือกใช้การพิมพ์เงิน ซึ่งจะทำให้เกิดการลงลงของมูลค่าสกุลเงิน และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูง และก่อเกิดปัญหาการเงินและเศรษฐกิจ นำมาสู่ความขัดแย้งในประเทศจากความเลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
เมื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนแย่ลง ระบอบทุนนิยม และชนชั้นนำของประเทศจะกลายเป็นผู้ร้าย
เกิดขั้วทางการเมืองขึ้นจากความเห็นต่างแบบสุดโต่งจากการเป็นผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากระบบ
ส่วนใหญ่ปลายทางมักจะเป็นการหาทางเก็บภาษี จากความมั่งคั่งของคนรวยมากขึ้น เพื่อลดความเลื่อมล้ำ
ในฝั่งคนคนรวยเมื่อกลัวการเสียผลประโยชน์จะเริ่มเกิดการย้ายความมั่งคั่งและ ทรัพย์สินต่าง ๆ ไปยังประเทศอื่น
ทำให้เกิดกระแสเงินไหลออกจากประเทศ
การลงทุนในประเทศนั้น ๆ จะชะลอตัวลง การเก็บภาษีก็เก็บได้น้อยลงไปด้วย
ทรัพยากร และทุนทรัพย์ที่น้อยลงก็จะวนกลับไปทำให้การใช้จ่ายของรัฐขัดสน การกระจายทรัพยากรทั่วถึงน้อยลงไปอีก
นำมาสู่การบริหารของรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพและเกิดการลุกฮือของประชาชน ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง หรือการปฏวัติขึ้น
อีกด้านหนึ่งคือนอกประเทศ
ระหว่างที่ประเทศมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็มักจะมีปัญหากับประเทศอื่นคู่ไปด้วย เพราะเมื่อมีประเทศที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็จะมีประเทศที่เสียผลประโยชน์คู่กันไปด้วย เหมือนการแย่งลูกค้ากัน ก็จะเกิดการเหม็นขี้หน้ากันได้
การเกิดปัญหาภายในประเทศ จะเป็นจุดที่ทำให้คู่แข่งจากประเทศต่าง ๆ ใช้เป็นข้อดีในการท้าทายอำนาจ และจะเสี่ยงมากขึ้นอีกหากคู่แข่งเหล่านั้นได้สร้างกำลังกองทัพที่เทียบเคียงกัน
ซึ่งการจะป้องกันประเทศจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการซื้อยุทธโรปกรณ์ต่าง ๆ (ซึ่งก็มักเกิดขึ้นในช่วงที่ปัญหาภายในประเทศกำลังย่ำแย่)
เนื่องจากไม่มีระบบที่ใช้ตัดสินข้อพิพาทระหว่างประเทศได้อย่างสันติ สุดท้ายมักเกิดการ ลองเชิง วัดอำนาจ ประลองความสามารถกัน (เช่นที่เราเห็นจากสงครามการค้า สงครามเย็น หรือแม้แต่สงครามเต็มรูปแบบ)
และประเทศผู้นำหรือมหาอำนาจมีมีทางเลือก 2 ทางคือ ต่อสู้กลับ หรือยอมแพ้ ในกรณีสู้กลับก็จะเกิดความสูญเสียทั้ง 2 ฝ่าย แต่หากเลือกการยอมแพ้ก็เกิดผลเสียไม่แพ้กัน เพราะทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ว่า ประเทศกำลังอ่อนแอ สุดท้ายจะทำให้ประเทศผู้สนับสนุนเกิดการย้ายข้างไปหาข้างที่มีโอกาสชนะมากกว่า ซึ่งขั้วอำนาจจะถูกเปลี่ยนในช่วงนี้
และหากสกุลเงินของประเทศมหาอำนาจถูกขายออกมา จนสูญเสียความสามารถในการเป็นเงินสำรองจะนับเป็นการจบรอบ วัฏจักร Big Cycle
หลังจากจบวัฏจักรไปประเทศจะเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากมาย มีการเปลี่ยนระบบ ขั้วอำนาจต่าง ๆ
ประเทศที่เปลี่ยนแปลงสำเร็จก็จะกลับมาได้อีกครั้ง ยกตัวอย่างจีนที่ตั้งแต่ 1200 ปีที่ผ่านมา ผ่านมามากกว่า 3 cycle แล้ว ส่วนประเทศที่เปลี่ยนไม่สำเร็จก็จะซึมไปยาว ๆ คล้าย ๆ Netherland และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เป็นต้น
.
BottomLiner