รู้จักประวัติ Ray Dalioจากคนธรรมดาสู่เจ้าของ Hedgefund ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
หลายคนน่าจะเคยผ่านตาหนังสือขายดีของ Ray Dalio อย่าง Principles / Big Debt Crises หรืออย่าง The Changing world order (ที่ยังไม่มีแปลไทย) ก็เป็นหนังสือที่มีประโยชน์อย่างมากกับการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกและเศรษฐกิจ
แต่ที่หลายคนน่าจะยังไม่รู้คือ Ray Dalio คือผู้ก่อตั้ง Hedgefund ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปัจจุบัน และเป็นอีกบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในโลกลงทุน
วันนี้เราจะมารู้จักที่มา ของ Ray แบบเล่าสู่กันฟังให้เข้าใจง่าย ๆ กันครับ
.
#จุดเริ่มต้น
Ray Dalio หรือ Raymond Thomas Dalio เกิดในปี 1949
ในครอบครัวชนชั้นกลางใน New York ที่ไม่ได้มีจุดเด่นอะไร และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการเงินเลย
จุดเริ่มต้นชีวิตการลงทุนของ Ray เริ่มจากการเป็นเด็กถือถุงไว้กอล์ฟในที่ ๆ เซียนหุ้นจาก Wallstreet ไปตีกอล์ฟเล่นกัน หลังจากฟังเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้เขาเริ่มมาสนใจการลงทุนตั้งแต่อายุ 12
และเริ่มซื้อหุ้นตัวแรกคือหุ้นสายการบิน Northeast Airlines ด้วยเงิน $300
ซึ่ง Ray ได้กำไรไป 3 เด้ง ตั้งแต่ครั้งแรกจากการประกาศควบรวมกิจการของบริษัท
หลังจากนั้นพอร์ตของ Ray Dalio ก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
พอถึงช่วงม.ปลาย Ray ก็มีเงินหลายพันดอลลาร์แล้ว
.
โถ่ว! ก็เทียบแล้วแค่ไม่กี่แสนบาท เดี๋ยวนี้คนทำได้เยอะแยะ
แต่เดี๋ยวก่อนเรื่องราวมันเกิดขึ้นตอน 1970 เทียบกันแล้ว $1000 ตอนนั้น คือ $10,000 ตอนนี้เลยนะ
หรือตีเป็นเงินไทย Ray วัยเด็กก็ฟันกำไรได้เป็นล้านตั้งแต่ยุค ม.ปลายแล้ว
.
#ชีวิตในโลกลงทุน
หลังจากจบการศึกษา ม.ปลายด้วยผลการเรียนแสนธรรมดา
Ray สามารถยื่นเข้าเรียนสายการเงินที่ ใน Long Island University ในขณะที่เรียน Ray ก็ยังซื้อ/ขายหุ้นไปด้วย แต่เริ่มหันมาสนใจการเทรด Future ในสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ในขณะเดียวกันเขาได้สนใจการทำสมาธิ และการบริหารจัดการการทำงานต่าง ๆ (ซึ่งตอนหลังเป็นรากฐานของ “Principles”)
หลังจบ ป.ตรี Ray ยื่นเรียนต่อที่ Harvard Business School ในสาขาการเงิน
ซึ่ง Ray และ เพื่อน ๆ ได้ก่อตั้ง Bridgewater ขึ้นที่นั้น เพื่อซื้อ/ ขายสัญญาสินค้า commodities แต่ด้วยความขาดประสบการณ์ทำให้บริษัทของพวกเขาทำกำไรได้น้อยนิด และได้เลิกทำไปในระหว่างเรียน
.
หลังจากเรียนจบ Ray ไปเป็นเทรดเดอร์เพื่อเทรด Future ที่ Shearson Hayden Stone
ซึ่งดำเนินงานโดย Sandy Weil (ภายหลังคือคนก่อตั้ง Citigroup)
งานหลักของ Ray ที่นี่คือการแนะนำเกษตรกร เพื่อซื้อ Future สำหรับป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ
ซึ่งดูจะไม่ถูกจริต Ray มากนัก โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างองค์กรที่มีลำดับขั้นค่อนข้างมาก
(กลายเป็นสิ่งที่ Ray อยากแก้เมื่อมีองค์กรของตัวเอง)
Ray จึงเริ่มกลับมาใช้ชีวิตแบบสุดโต่งมากขึ้น วีรกรรมที่โดดเด่นในช่วงนั้นเรียกว่าค่อนข้างหน้าหู เช่น Ray เคยจ้างนักเต้นรูดเสา (Stripper) ให้แก้ผ้ากลางงานประชุมเกษตรกรประจำปีที่ California และอีกอันคือ Ray เมาแล้วไปต่อยหน้าเพื่อนร่วมงานและเจ้านายของเขา สุดท้าย Ray เลยถูกไล่ออกในปี 1974
.
หลังจากถูกไล่ออก ด้วยฝีมือซึ่งเป็นที่ยอมรับจากบริษัทเก่า ทำให้มีลูกค้าหลายคนตาม Ray มาด้วย ด้วยลูกค้ากลุ่มแรกตรงนี้ทำให้ Ray สามารถตั้งกองทุนของตัวเองใน Apartment ของเขาได้ ด้วยชื่อบริษัทเก่าที่เขาเคยปิดไป “Bridgewater” นั้นเอง
.
หลังจากนั้น Ray ก็ทำผลงานดีต่อเนื่อง และเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ
จุดเปลี่ยนของ Bridgewater เลยคือการที่ McDonald เข้ามาเป็นลูกค้า หลังจากนั้นก็มีลูกค้ารายใหญ่ตามเข้ามาใช้บริการของบริษัทอีกเป็นจำนวนมาก เช่น World Bank, Kodak เป็นต้น จนสามารถสร้างสำนักงานของตัวเองหลังจากเปิดบริษัทมาได้แค่ 6 ปี
.
#ตำนานBridgewater
Bridgewater คือ Hedge Fund ที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงที่แตกต่างจากขนบธรรมเนียมเดิม ๆ รวมถึงมีการเก็บ data และสร้าง Model เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ด้วยตนเองอย่างละเอียดยิบ
ในขณะที่ทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ Bridgewater ถือครองนั้นมีความเสี่ยงต่ำ (ซึ่งปกติควรได้ผลตอบแทนที่ต่ำด้วย)
แต่ด้วยการบริหาร และกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสมตามแบบ Bridgewater ทำให้ ผลตอบแทนของ Bridgewater อยู่ในระดับดียวกับดัชนี S&P 500 เลยทีเดียว ซึ่งกลยุทธ์นี้ของ Bridgewater รู้จักกันในชื่อ “All Weather Portfolio” ซึ่งหมายถึงพอร์ตลงทุนที่ทำมาเพื่อสามารถผ่านทุกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นตลาดขาขึ้น หรือขาลง
โดยตั้งแต่ 1991 เป็นต้นมา กองทุนของ Bridgewater ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 11.9% ต่อปี
.
ระดับความเตรียมพร้อมของ Bridgewater จัดอยู่ในระดับสุดกราฟ จนเคยมีคำกล่าวจากนิตยสาร Barron ในปี 2007 ว่า “ไม่มีใครในโลกนี้อีกแล้วที่จะเตรียมรับมือวิกฤติที่จะเกิดขึ้นเท่า Bridgewater”
.
อย่างวิกฤติแฮมเบอเกอร์ (Subprime Crisis) ที่เกิดขึ้นในปี 2008 Bridgewater ได้ออกเตือนให้กับผู้ติดตามข่าวของตัวเองตอนสิ้นปี 2007 ว่าจะเกิดวิกฤติใหญ่ทั่วโลกในปีหน้า และทำให้หลาย ๆ คนรอดจากวิกฤติมาได้ ในขณะที่หลาย ๆ hedgefund ขาดทุนย่อยยับ
ดัชนี S&P 500 ลงยับกว่า -56% แต่กองทุนของ Bridgewater กับทำผลตอบแทนไปได้ 9% ในปีนั้น
.
จากความสำเร็จและความแม่นยำในการคาดการณ์วิกฤติของ Bridgewater รวมถึงคำแนะนำของ Bridgewater ที่มีผลต่อการตัดสินใจในการออกกฏหมายและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ
ทำให้สหรัฐสามารถผ่านวิกฤติที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไปได้ (ทั้งที่ใคร ๆ ก็บอกว่าพังแน่ ๆ) ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายหันมาสนใจแนวการทำงานของ Bridgewater มากขึ้น
Ray จึงได้รวบรวมแนวทางการทำงานของบริษัทและออกมาเป็นหนังสือจำนวน 123 หน้าในปี 2011 ซึ่งตอนหลังมันกลายเป็นโครงของหนังสือ “Principles” ของ Ray ในอีก 6 ปีต่อมา
Ray ยังพยายามออกหนังสือและสื่อเพื่อทำความเข้าใจกลไกทางการเงินอีกหลายอย่าง เพื่อพยายามสื่อสารให้ทุกคนทำความเข้าใจเรื่องการเงินได้เช่น How economic machine works (2013), Big Debt Crises (2020), the Changing world order (2021)
.
ปัจจุบัน Ray เกษียณจาก Bridgewater เป็นที่เรียบแล้วเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา แต่กองทุนของ Ray ยังเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกต่อไปด้วยขนาดทรัพย์สินที่บริหารทั้งหมด $126 B หรือราว ๆ 4.3 ล้านล้านบาท
.
#เราได้อะไรจากRay
แม้ Ray จะเกษียณไปแล้วแต่ความรู้ของ Ray ยังถูกส่งต่อ ๆ ไป สำหรับใครที่เป็นผู้บริหารในหน่วยงานต่าง ๆ “Principles” เป็นหนังสือที่มีประโยชน์มาก ๆ ในการประยุกต์เอาแนวคิดของ Bridgewater มาใช้กับองค์กรของทุกคน มันจะช่วยให้องค์กรของคุณแสดงศักยภาพที่มีออกมาได้มากขึ้น !
สำหรับใครที่เป็นนักลงทุน BottomLiner แนะนำอย่างยิ่งสำหรับหนังสือ Big Debt Crises และ the Changing World Order เพราะมันทำให้เราประเมินสถานการณ์ในตลาดได้คมมากขึ้นเยอะ ! แถมทำให้เรามองเศรษฐกิจเป็น Pattern ออก
เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นเราจะเข้าใจถึงกลไก และหาประโยชน์จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ
.
รวมถึงแนวทางการจัดพอร์ต All Weather แบบ Ray ก็สามารถเอามาประยุกต์และควบคุมความเสี่ยงอย่างดีเช่นกัน (แต่ใช้ตรง ๆ จะไม่ค่อยดีนะ เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว)
.
BottomLiner