รู้จัก Portfolio Turnover ratio (PTR) ผู้จัดการกองทุนนี้ปรับพอร์ตบ่อยแค่ไหน
เมื่อเวลาเราจะเลือกซื้อกองทุนสักกอง ส่วนใหญ่ก็จะดูพวกข้อมูลพื้นฐานทั่วไป เช่น ผลตอบแทน ค่าธรรมเนียม การจัดอันดับกองทุน เป็นต้น แต่ก็มีอีกปัจจัยหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้ามไป ก็คือ ค่า PTR หรือ Portfolio Turnover Ratio
.
ค่า PTR หรือ Portfolio Turnover Ratio คือ อัตราส่วนหมุนเวียนการลงทุนของกองทุนรวม
.
ค่านี้จะบอกเราว่า กองทุนนี้ซื้อขายหุ้นหรือตราสารในพอร์ตบ่อยแค่ไหน นอกจากนี้ยังทำให้เราเห็นถึงสไตล์การบริหารพอร์ตลงทุนของกองทุนนี้เป็นอย่างไร ข้อมูลนี้หาได้ใน fund factsheet
.
โดยจะคํานวณจาก มูลค่าที่ต่ำกว่าระหว่างผลรวมของมูลค่าการซื้อทรัพย์สิน กับ ผลรวมของมูลค่าการขายทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนในรอบระยะเวลาผ่านมาย้อนหลัง 1 ปี หารด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเฉลี่ย (NAV) ของกองทุนรวมในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน
.
ในอเมริกาจะได้จัดค่ามาตรฐานว่า อัตราส่วนที่มากกว่า 100% แสดงให้เห็นถึงสไตล์การลงทุนของผู้จัดการกองทุนที่มีการซื้อขายบ่อยๆ
.
พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าค่า PTR สูงๆ แสดงว่า ผู้จัดการกองทุนปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุนบ่อย ในทางตรงกันข้าม ถ้าค่า PTR ต่ำๆ แสดงว่า ผู้จัดการกองทุนไม่ค่อยปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุน โดยมากแล้ว PTR เฉลี่ยต่อปี ที่ต่ำกว่า 30% นักลงทุนจึงกล่าวขานว่ากองนี้ ปรับพอร์ตน้อย เป็นสไตล์ลงทุนระยะยาว หรือแก๊งถือทน ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนชอบ
.
เพราะกองทุนที่มีค่า PTR สูง หรือซื้อขายบ่อยครั้ง ก็จะส่งผลไปยังต้นทุนของการลงทุน เพราะเมื่อเราซื้อขายหุ้นหรือตราสารอื่นๆ ในแต่ละครั้งก็มีค่าธรรมเนียมในการซื้อขายด้วย ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจได้รับผลตอบแทนที่ต่ำลง
.
เราอาจจะพบเจอบางกองทุนที่ค่า PTR เท่ากับ 3 หรือ 300% ก็อย่าเพิ่งตกใจและคิดว่ากองทุนนี้ไม่ดี แต่กองทุนแต่ละประเภทอาจจะมีกลยุทธการลงทุนที่แตกต่างกัน
.
หาก PTR สูงแต่สามารถทำกำไรได้ ก็ไม่ได้เสียหายจริงไหมครับ
.
แต่หาก PTR สูง แล้วไม่กำไร ก็อาจจะโทษฝนฟ้า ตลาดไม่ดี ชั่วคราวได้ แต่หากระยะยาว PTR สูง ไม่ได้มีเขียนในนโยบายว่าเน้น trading แถมทำผลตอบแทนได้ไม่ดี อย่างนี้เราก็ควรจะพิจารณากองทุนนั้นดีๆครับ ว่าจงใจซื้อขายบ่อยให้เกิดค่าธรรมเนียมหรือไม่
.
BottomLiner