20 ข้อคิดจาก JUST KEEP BUYING หนังสือพื้นฐานการเงิน การลงทุนดี ๆ เล่มใหม่ (ที่ยังไม่มีแปลไทย)
JUST KEEP BUYING โดย Nick Maggiulli
เป็นหนังสือการเงินที่คิดว่าทุกคนควรอ่านสักครั้งในชีวิต โดยรวมถือว่าเป็นหนังสือที่อ่านง่าย อ่านสนุก ไม่ได้พูดลอย ๆ แต่หยิบเอาสถิติมาพูดให้เห็นชัด ๆ เหมาะกับคนที่ลงทุนทั้งแบบ Passive และ Active หรือคนที่กำลังเริ่มศึกษาลงทุนก็ได้
หนังสือจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ด้วยกันคือ
.
1.การเก็บสะสมเงิน การออมทรัพย์ต่าง ๆ ยาวไปถึงการวางแผนเกษียณ
.
2.การลงทุนแบบ 101 ว่าด้วยเรื่องของทำไมต้องลงทุน จัดพอร์ตแบบไหนดี ไปจนถึงวิธีซื้อ-ขายแบบไม่ Timing Market ว่าเราควรจะวางแผนซื้อ-ขาย ยังไงดี (โดย DCA ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดที่แนะนำ) ควรดึงเงินมาใช้ยังไงให้พอตลอดชีวิตหลังเกษียณ โดยไม่ต้องปิดพอร์ต
.
ความเห็นเพิ่มเติมคือสำหรับคนที่ Timing ตลาด และเลือกหุ้นลงทุนรายตัวเองได้ดี อาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีอย่างในหนังสือ (ผู้เขียนระบุไว้แล้ว) แต่ก็อ่านได้นะ สนุกและน่าจะช่วยให้ลงทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
=====
พูดสรุปนำมายาว เข้าเรื่องเลยดีกว่า
BottomLiner ได้หยิบเอาข้อคิด 20 ข้อ ที่ได้จาก JUST KEEP BUYING มาให้อ่านกัน
เผื่อใครสนใจจะไปหาอ่านเพิ่มจะได้ตัดสินใจง่ายขึ้นนะครับ
(ตอนนี้มีแค่ภาษาอังกฤษนะครับ ใครอ่านแปลไทยรอไปก่อนนะ)
=====
#20 ข้อคิดจากหนังสือ
1.การออมทรัพย์เป็นวิถีแห่งคนจน ลงทุนเป็นวิถีแห่งคนรวย
คุณต้องรู้ว่าคุณอยู่ส่วนตรงไหนในเส้นทางการเงิน รู้ว่ามีแรงและเวลาเหลือเท่าไหร่ เพื่อจะรู้ว่าเหมาะกับการลงทุนแบบไหน รู้ว่าคุณต้องการผลตอบแทนเท่าไหร่ การออมทรัพย์จะเป็นทางเลือกที่ต้องเลือก ในกรณีที่ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุณคาดหวังต่ำกว่าการออมเท่านั้น
—–
2.ออมเงินเท่าที่คุณจะทำได้
รายได้และรายจ่ายเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว ดังนั้นเราก็ไม่ควรกำหนดเงินที่ต้องออมไว้ตายตัวเช่นกัน ออมในระดับที่คุณจะไม่เครียดเกินไปและเหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลานั้นดีพอแล้ว
—–
3.โฟกัสที่รายได้ไม่ใช่รายจ่าย
การตัดรายจ่ายเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างจำกัด แต่การหารายได้เพิ่มไม่ได้จำกัด
ให้เพิ่มช่องทางรายได้เล็ก ๆ ในวันนี้ (หลายช่องทางจะดีกว่า) และมันจะสามารถเปลี่ยนเป็นช่องทางทำเงินที่ใหญ่กว่าในอนาคต
—–
4.ใช้กฏ x2 ในการลดความกังวลในการใช้จ่าย
ถ้าคุณรู้สึกกังวลในการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายให้ตัวเอง ให้นำเงินจำนวนที่เท่ากันไปลงทุนในทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นทริคง่าย ๆ ที่สามารถช่วยลดความกังวลในการใช้จ่ายได้
—–
5.ให้ออมเงินเดือนและโบนัสและรายได้ที่เพิ่มเข้ามาอย่างน้อย 50%
การใช้ไลฟ์สไตล์ที่สูงขึ้นเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่โอเค แต่อย่าลืมเพิ่มการออมให้สูงขึ้นตามไปด้วยถ้าคุณอยากให้การเงินส่วนบุคคลของคุณเป็นไปตามแผน
—–
6.การเป็นหนี้จะดีหรือไม่นั้น อยู่ที่หนี้นำไปใช้ทำอะไร?
หนี้สินสามารถเป็นสิ่งที่เลวร้ายในบางกรณีและบางมุมก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์เช่นกัน
จงเป็นหนี้เมื่อมันเป็นประโยชน์กับการเงินของคุณ
—–
7.ซื้อบ้านในเวลาที่ควรเท่านั้น
การซื้อบ้านจะเป็นการตัดสินใจทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต ดังนั้นจงซื้อบ้านที่เหมาะสมกับทั้งไลฟ์สไตล์และการเงินของคุณ (ควรซื้อเมื่อมีแผนที่จะตั้งหลังปักฐานอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี มีแผนครอบครัวที่ชัดเจน จะมีคนอาศัยในบ้านกี่คน มีเงินจ่ายเพียงพอไหม เป็นหนี้มากเกินตัวหรือไม่)
.
8.ระหว่างการเก็บเงินเพื่อซื้อสิ่งของชิ้นใหญ่ (เช่น บ้าน รถ) สามารถนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้และหุ้นได้ จะช่วยให้ถึงเป้าได้เร็วขึ้น (โดยเฉลี่ย) ให้แปลงเป็นเงินสดเฉพาะเวลาที่จะใช้แล้วเท่านั้น
—–
9.การเกษียณมีเรื่องที่ต้องคิดมากกว่าเงิน
ก่อนจะตัดสินใจเกษียณ ให้มั่นใจว่าคุณรู้แล้วว่าจะเกษียณไปเพื่อทำอะไร ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน
เพราะสุดท้าย งานคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมีตัวตน เมื่อเราเกษียณไปโดยไม่มีเป้าหมายว่าอยากทำอะไร เราจะรู้สึกไร้ตัวตนและว่างเปล่าสุด ๆ
—–
10. ลงทุนเพื่อทดแทนต้นทุนทางแรงกายด้วยต้นทุนทางการเงิน
เพราะเราไม่สามารถที่จะทำงานตลอดไปได้ ดังนั้นเราต้องทดแทนทุนทางแรงกาย (ที่ค่อย ๆ ลดลง) ด้วยทุนทางการเงิน (ที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น) และการลงทุนก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อจะทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง
—–
11.ให้คิดในมุมการเป็นเจ้าของ และซื้อทรัพย์สินที่สามารถสร้างรายได้
เพื่อจะให้รายได้ของคุณเติบโตได้มาก ๆ ให้คิดอย่างคนเป็นเจ้าของและใช้เงินในการซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ ที่สามารถสร้างรายได้ให้เรา
—–
12. อย่าซื้อหุ้นรายตัว
การซื้อหุ้นรายตัวและหวังว่าผลงานของเราจะดีกว่าตลาดนั้นไม่ต่างจากการโยนเหรียญออกหัว-ก้อย
คุณอาจสำเร็จก็ได้ แต่คุณมั่นใจในตัวเองใช่ไหมว่ามันไม่ได้มาจากโชคช่วย?
—–
13.ซื้อให้เร็ว แต่ขายช้า ๆ
ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในตลาด (ซื้อทรัพย์สิน) มักเป็นขาขึ้น การซื้อให้เร็วและขายให้ช้า เป็นวิธีที่ดีในการสะสมความมั่งคั่งของคุณให้ไปสู่จุดสูงสุด ถ้าคุณรู้สึกไม่สบายใจในการทำแบบนี้ อาจเพราะว่าสิ่งที่คุณซื้อ-ขาย อาจเสี่ยงเกินไปสำหรับคุณ
—–
14. ลงทุนให้บ่อยที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้
ถ้าคุณคิดว่าคุณสามารถกะจังหวะเข้าซื้อในตลาดโดยการสะสมเงินสดไว้ ให้คิดอีกครั้ง (จริง ๆ สามารถทำได้ แต่คนส่วนใหญ่จะไม่) เพราะจากสถิติน้อยคนนักที่เอาชนะการ DCA (Dollar-Cost Average)
—–
15.การลงทุนไม่ได้เหมือนการเล่นไพ่ที่จบเป็นรอบ ๆ เท่านั้นแต่คือการวางแผนระยะยาว
ในการลงทุนคุณจะเจอทั้งวันที่โชคดีและโชคร้ายตลอดเวลาเป็นเรื่องปกติ แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือคุณจะทำอย่างไรสำหรับแผนระยะยาว
—–
16.อย่ากลัวความผันผวน (volatility) เมื่อมันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ธรรมชาติของตลาดไม่ได้ให้ทำให้คุณอยู่กับมันได้อย่างชิว ๆ ไม่มีความเจ็บปวด
อย่าลืมสัมผัสกับความเจ็บปวดจากโอกาสที่ราคาทรัพย์สินจะลดลง (downside) หากคุณอยากได้รับโอกาสที่ราคาทรัพย์สินจะเพิ่มขึ้น (upside)
—–
17.ตลาดถล่ม (ส่วนใหญ่) เป็นโอกาสซื้อ
ผลตอบแทนที่น่าจะได้รับในอนาคตมักจะสูงที่สุดหลังจากเกิดตลาดถล่มครั้งใหญ่ อย่ากลัวที่จะใช้ข้อได้เปรียบนี้เมื่อตลาดเกิดการถล่ม
—–
18.ไม่ผิดถ้าจะนำเงินที่ลงทุนออกมาให้รางวัลชีวิตบ้าง
ไม่งั้นจะมีประโยชน์อะไรที่สร้างความมั่งคั่งมา หากไม่ทำอะไรกับมันบ้างเลย (แต่ต้องไม่ดึงออกมามากเกินไปนะ เพราะการดึงเงินออกมาก็ทำให้ Compouding Effect มันลดลงด้วย)
—–
19.คุณจะไม่รู้สึกว่าคุณรวยและนั้นเป็นเรื่องปกติ
ไม่ว่าคุณจะมีเงินมากขนาดไหน จะมีคนที่รวยกว่าเสมอ และมันเป็นธรรมชาติที่จะรู้สึกแบบนั้น เมื่อเราประเมินตัวเอง โดยการเปรียบเทียบกับคนรอบตัว โดยไม่รู้ว่าเราอยู่จุดไหนในโลกใบนี้ (สถิติบ่งชี้ว่าคนส่วนใหญ่ประเมินตัวเองไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั้งโลก)
—–
20.เวลาคือทรัพย์สินที่สำคัญที่สุด
คุณสามารถหาเงินเพิ่มได้เสมอ แต่ไม่สามารถซื้อเวลาเพิ่มเติมได้
—–
สำหรับข้อสรุปทั้ง 20 ข้อนี้มาจากบทสุดท้ายของหนังสือ JUST KEEP BUYING
ในหนังสือจะมีการอธิบายแต่ละประเด็นอย่างละเอียดไว้ หากสนใจก็สามารถหาซื้อมาอ่านกันได้นะครับ
.
.
.
BottomLiner